รู้สิทธิ์ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร
รู้สิทธิ์ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร
ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน
ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายได้ไหม
ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ บทบัญญัติตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามมาตรา 39 ระบุว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.
ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ
- เกษตรกร
เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น
- ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
- ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
- จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
- เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
- สถาบันเกษตรกร
- กลุ่มเกษตรกร
- สหกรณ์การเกษตร
- ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการจัดที่ดิน ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด โดยให้จัดเตรียมเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการมีที่ดิน (ถ้ามี) เพื่อให้ ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบคุณสมบัติและดำเนินการจัดหาที่ดิน และจัดที่ดิน ส.ป.ก. ต่อไป
ขอที่ดิน ส.ป.ก. ได้กี่ไร่
- จำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม
- จำนวนที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ สำหรับเกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม ประเภทเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ
- จำนวนตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เห็นสมควรสำหรับสถาบันเกษตรกร
- ถ้าเป็นที่ดินของรัฐ และมีเกษตรกรถือครองอยู่แล้วเกินจำนวนที่กำหนด ก่อนเวลาที่คปก. กำหนด (พ.ศ. 2524) จัดให้ตามจำนวนที่เกษตรกรถือครองได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100 ไร่
ที่ดิน ส.ป.ก. โอนให้ใครได้บ้าง
- สามี ภรรยา
- บุตร
- บิดามารดาของเกษตรกร
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของเกษตรกร
- พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของเกษตรกร
- หลานของเกษตรกร
ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถโอนสิทธิและตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท ต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเท่านั้น ดังนี้
- การโอนสิทธิ เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. ยังมีชีวิตออยู่ สามารถโอนสิทธิให้ทายาทได้ ต่อเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็น เช่น แก่ชรา เจ็บป่วย เป็นต้น
- ตกทอดทางมรดกสิทธิ เกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิต ทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับมรดกสิทธิได้