เตรียมความพร้อมการโอนที่ดิน
เอกสารโอนที่ดิน
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.ajhomecenter.com
กรณีเป็นบุคคลทั่วไป
1.โฉนดที่ดินฉบับจริง
2.บัตรประชาชน พร้อมสำเนา 1 ชุด (เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
3.ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา 1ชุด (เซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)
4.หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) กรณีมอบอำนาจ
5.หนังสือให้ความยินยอมให้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน (กรณีสมรส)
6.สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส (กรณีสมรส)
7.สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส (กรณีสมรส)
8.สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีสมรส)
9.สำเนาทะเบียนหย่า (กรณีหย่า)
กรณีเป็นนิติบุคคล
1.โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
2.หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
3.หนังสือบริคณห์สนธิ และวัตถุประสงค์
4.บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น กรณีบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด
5.แบบรับรองรายการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนแล้ว
6.บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด
7.บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และตัวอย่าง ลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคล
8.รายงานการประชุมนิติบุคคล
ค่าโอนที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน
- ค่าคำขอโอนที่ดิน 5 บาท
- ค่าอากร 5 บาท
- ค่าพยาน 20 บาท
- ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน ซึ่งคิดที่ 2% ของราคาประเมินหรือราคาขาย โดยใช้ราคาสูงสุดในการคำนวณ
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณราคาค่าโอนที่ดินโดย 5,500,000 x 2% = 110,000 บาท
- ค่าจดจำนอง เฉพาะสำหรับกรณีกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อ ซึ่งคิดที่ 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ตัวอย่าง กู้เงิน 5,000,000 บาทมาซื้อที่ดิน มูลค่าที่จดจำนองคือ 5,000,000 บาท และคำนวณค่าจดจำนองโดย 5,000,000 x 1% = 50,000 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ ซึ่งคิดที่ 0.50% ของราคาซื้อขาย แต่หากต่ำกว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณราคาค่าโอนที่ดิน แต่ถ้าเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณค่าอากรแสตมป์โดย 5,500,000 x 0.50% = 27,500 บาท
- ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งคิดที่ 3.3% ของราคาซื้อขาย ซึ่งหากต่ำกว่าราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินในการคำนวณราคาโอนที่ดิน
ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่กรมที่ดินประเมินราคาที่ดิน 5,000,000 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ 5,500,000 บาท คำนวณค่าภาษีธุรกิจเฉพาะโดย 5,500,000 x 3.3% = 181,500 บาท
สำหรับราคาค่าโอนที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าอากรแสตมป์นั้น ผู้ซื้อกับผู้ขายอาจออกคนละครึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย นอกจากนี้ หากเป็นการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอย่างบ้าน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก นอกเหนือจากราคาค่าโอนที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน เช่น ค่าเงินประกันการใช้มิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟฟ้า ค่าส่วนกลาง
ขั้นตอนการโอนที่ดิน
ระยะเวลาที่ใช้ในการโอนที่ดินจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคิวหรือจำนวนคนที่ใช้บริการที่สำนักงานที่ดิน หากไม่มีคิวยาว ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้ไปสำนักงานที่ดินแต่เช้าเพื่อจองคิวและลดเวลาที่ต้องรอคอย
- กรอกคำขอ พร้อมแนบเอกสารที่ใช้ในการโอนที่ดินตามที่ระบุในข้างต้น
- นำคำขอและเอกสารดังกล่าวไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อผ่านการตรวจสอบเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่ฯ จะให้บัตรคิวเพื่อไปรอเรียกที่ฝ่ายชำนาญงาน
- เมื่อถึงคิว ผู้โอนและผู้รับโอนที่ดินจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชำนาญงาน
- เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะประเมินราคาที่ดินและนำไปใช้ในการคำนวณค่าโอนที่ดิน ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการโอนที่ดิน เมื่อทราบยอดราคาค่าโอนที่ดินแล้ว จะได้รับใบคำนวณค่าใช้จ่ายจากเจ้าหน้าที่
- ให้นำใบคำนวณราคาค่าโอนที่ดินไปชำระเงินที่ฝ่ายการเงิน จากนั้นจะได้รับใบเสร็จสีฟ้าและสีเหลือง
- ให้มอบใบเสร็จสีเหลืองแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญงาน และรับสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าจากผู้ขาย (ตัวจริงผู้ขายเก็บรักษา)
- เจ้าหน้าที่ชำนาญงานจะพิมพ์สลักหลังโฉนดและมอบให้ตรวจสอบ เมื่อโฉนดถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับโฉนดพร้อมสัญญาซื้อขาย (ทด.13) ซึ่งถือว่าสิ้นสุดขั้นตอนการโอนที่ดิน และกรรมสิทธิ์ของที่ดินก็ถือเป็นของผู้ซื้อหรือผู้รับโอนโดยสมบูรณ์
หากไม่สะดวกไปดำเนินการโอนที่ดินด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนได้